วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2561

โรคมะเร็งกระดูก








มะเร็งกระดูก (Bone Cancer) คือ เซลล์มะเร็งที่เริ่มก่อตัวบริเวณกระดูกตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายซึ่งเรียกว่า โรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิ และเซลล์มะเร็งที่มีต้นกำเนิดจากอวัยวะอื่นแล้วแพร่กระจายไปยังกระดูกซึ่งเรียกว่าโรคมะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิ โดยชนิดปฐมภูมินั้นพบได้ไม่บ่อยนัก มักเกิดขึ้นในกระดูกที่มีลักษณะเป็นแนวยาว เช่น กระดูกแขนหรือกระดูกขา โดยมีอาการเจ็บหรือบวมแดงที่บริเวณนั้น ๆ เป็นสัญญาณบ่งบอกโรค


อาการมะเร็งกระดูก
มะเร็งกระดูกอาจเกิดขึ้นที่กระดูกบริเวณใดก็ได้ แต่ส่วนมากมักเกิดกับกระดูกแนวยาวอย่างแขนส่วนบนหรือขา อาการของโรคที่พบได้บ่อยที่สุดคืออาการเจ็บกระดูก ซึ่งมักเริ่มจากอาการคล้ายฟกช้ำบริเวณกระดูกที่ได้รับผลกระทบจากมะเร็ง หลังจากนั้นจะเริ่มเจ็บอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานหรือเจ็บเป็นพัก ๆ มักเกิดขึ้นในตอนกลางคืนหรือขณะนั่งพัก ทั้งนี้อาการเจ็บปวดดังกล่าวอาจทำให้สับสนกับโรคข้ออักเสบในผู้ใหญ่ และอาการปวดจากการเจริญเติบโตของร่างกายในส่วนกระดูกและข้อของเด็กได้
นอกจากอาการเจ็บแล้วยังอาจพบอาการบวมแดงจากการอักเสบ หรือสังเกตได้ถึงก้อนบวมรอบบริเวณดังกล่าว ซึ่งหากเป็นกระดูกที่อยู่ใกล้ข้อต่อ อาการบวมที่เกิดขึ้นอาจทำให้ข้อต่อเคลื่อนไหวได้ยาก ในผู้ป่วยบางราย มะเร็งอาจส่งผลให้กระดูกอ่อนแอลงจนแตกหักได้ง่ายเพียงหกล้มหรือได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย
อาการอื่นของโรคมะเร็งกระดูกที่พบรองลงมาได้แก่ อาการไข้สูง มีเหงื่อออก โดยเฉพาะช่วงกลางคืน และน้ำหนักลดลงอย่างไม่ทราบสาเหตุ ดังนั้น เมื่อรู้สึกเจ็บที่กระดูกเป็นเวลานาน มีอาการรุนแรง หรือแย่ลง หรือหากวิตกกังวลกับอาการใด ๆ ข้างต้นที่กล่าวมา ควรปรึกษาแพทย์เพื่อความแน่ใจ แม้โอกาสเกิดมะเร็งกระดูกจะมีน้อยก็ตาม
สาเหตุของมะเร็งกระดูก
สาเหตุของเซลล์มะเร็งที่ก่อตัวขึ้นบริเวณกระดูกหรือมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมินั้นยังไม่ชัดเจน แต่ปัจจุบันทางการแพทย์พบว่าปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิมีดังนี้
  • การรักษาโดยการใช้รังสี กระบวนการรักษาโรคอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยต้องเผชิญกับรังสีมาก ๆ อาจทำให้เซลล์มะเร็งพัฒนาขึ้นในเซลล์กระดูกได้
  • เป็นโรคเกี่ยวกับกระดูก เช่น โรค Paget’s Disease of The Bone ซึ่งเป็นโรคความผิดปกติของพัฒนาการในเซลล์กระดูก เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งกระดูกในผู้ที่มีอายุ 50-60 ปี รวมถึงเนื้องอกในกระดูกอย่างโรค Ollier's disease ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งกระดูกเช่นกัน
  • พันธุกรรม โรคทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดจากบรรพบุรุษนับเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งกระดูก เช่น โรคมะเร็งจอประสาทตาในเด็ก (Retinoblastoma) ความผิดปกติทางพันธุกรรมที่พบได้ยากอย่างกลุ่มอาการ Li-Fraumeni ที่นอกจากเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระดูกแล้วยังเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งชนิดอื่น ๆ อีกด้วย
  • การเป็นโรคมะเร็งบางชนิดมาก่อน เช่น โรคมะเร็งจอตาในเด็ก (Retinoblastoma) ซึ่งเด็กที่เป็นโรคมะเร็งชนิดนี้จะมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งกระดูกชนิดออสตีโอซาร์โคมา (Osteosarcoma) ได้สูงกว่าคนทั่วไป (ส่วนผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งจอตาในเด็กมาก่อนก็มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งชนิดนี้ด้วยเช่นกัน)
  • เชื้อชาติ เพราะพบโรคนี้ได้สูงในคนผิวขาวและผิวดำมากกว่าคนเอเชียประมาณ 2 เท่า
  • เนื้องอกชนิดไม่ลุกลามหรือโรคของกระดูกอื่น ๆ เช่น Paget’s disease และ Fibrousdysplasia จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งกระดูกชนิดออสตีโอซาร์โคมา (Osteosarcoma)
  • การกระตุ้นโดยสิ่งแวดล้อม เช่น สารเคมี ยาฆ่าแมลง สารรังสี เป็นต้น ซึ่งคนที่ทำงานที่อยู่กับสารเคมีหรือทำงานในโรงงานที่เกี่ยวข้องกับรังสีหรือทางการแพทย์ จะทำให้มีโอกาสเกิดโรคมะเร็งได้
  • การเปลี่ยนแปลงทางโลกาภิวัตน์ อาจทำให้มีโอกาสเกิดโรคมะเร็งกระดูกได้สูงขึ้น เพราะในปัจจุบันเราพบผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิด และในอนาคตข้างหน้าอาจจะมีการเพิ่มของโรคมากขึ้นกว่าเดิม
  • ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งอื่น ๆ เช่น การสูบบุหรี่ ฯลฯ ก็จัดเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งกระดูกด้วยเช่นกัน   Medthai
มะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิซึ่งเป็นชนิดที่เซลล์มะเร็งไม่ได้เริ่มก่อตัวที่บริเวณกระดูกแต่เกิดจากการแพร่กระจายของมะเร็งจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมายังกระดูก เช่น มะเร็งเต้านมในระยะรุนแรงอาจทำให้เซลล์มะเร็งกระจายมาที่กระดูกได้

ลักษณะทางคลินิกของโรค

     โรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิ ผู้ป่วยมักมีอาการปวด ซึ่งอาการปวดจะมีข้อแตกต่างจากอาการปวดทั่วๆไป เป็นการปวดแบบทุกข์ทรมาน ปวดตลอดเวลา และมีปวดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่ปวดในเวลากลางคืนมากกว่ากลางวัน มีก้อนเกิดขึ้น มีการผิดรูปของอวัยวะ เช่น แขนขาผิดรูป กระดูกหักแบบมีพยาธิสภาพ คือหักแบบไม่มีเหตุในการที่จะหัก เช่น เดินแล้วหัก นอกจากนี้ที่พบเพิ่มขึ้นเรียกว่าพบโดยบังเอิญโดยที่ผู้ป่วยไม่มีอาการแต่มีรอยโรคเกิดขึ้น มักจะพบจากการที่ผู้ป่วยไปตรวจสุขภาพประจำปี หรืออาจเกิดจากเกิดอุบัติเหตุ เล่นกีฬา ไปตรวจเอ็กซเรย์แล้วพบ ซึ่งปัจจุบันมักจะพบลักษณะแบบนี้มากขึ้น

       โรคมะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิ ผู้ป่วยมักมีอาการปวด เรื่องก้อนจะไม่ค่อยชัดเจน มีภาวะเรื่องกระดูกหักโดยที่เกิดจากพยาธิสภาพ เช่น ยกของแล้วกระดูกหัก เดินหกล้มแล้วหัก เป็นต้น นอกจากนี้คืออาการของทางระบบประสาท เช่น อาการชา อาการอ่อนแรง จนกระทั่งเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น หรือบางครั้งอาจมาด้วยการตรวจพบโดยบังเอิญ ข้อแตกต่างระหว่างโรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิและโรคมะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิ คือโรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิจะเด่นเรื่องของก้อน และการผิดรูปของอวัยวะ ส่วนมะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิจะไม่เด่นเรื่องก้อน แต่จะมีภาวการณ์เป็นอัมพาตหรือการอ่อนแรงเกิดขึ้น
นอกจากนี้ โรคมะเร็งกระดูกแบ่งออกเป็นประเภทย่อยตามชนิดของเซลล์ที่พัฒนาเป็นเซลล์มะเร็ง  และแต่ละชนิดยังพบได้ในแต่ละเพศแต่ละวัยแตกต่างกันไป ดังนี้
  • มะเร็งกระดูกออสทิโอซาร์โคมา (Osteosarcoma) เกิดขึ้นในเซลล์กระดูกและเป็นมะเร็งกระดูกที่พบได้บ่อยที่สุด พบได้ในเด็กโต วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ตอนต้น หรือช่วงอายุ 10-19 ปี พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง กลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุน้อยมักเป็นโรคนี้ที่บริเวณปลายกระดูกแนวยาวซึ่งกำลังเจริญเติบโต บริเวณที่เป็นมากที่สุดคือ รอบ ๆ หัวเข่า และรองลงมาคือบริเวณกระดูกแขน
  • มะเร็งกระดูกคอนโดรซาร์โคม่า (Chondrosarcoma) เกิดขึ้นในเซลล์กระดูกอ่อนที่ล้อมรอบหรือติดอยู่กับกระดูก เป็นชนิดที่พบบ่อยรองลงมาจากมะเร็งกระดูกออสทิโอซาร์โคมา มักเกิดกับบริเวณกระดูกเชิงกรานและสะโพก ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในผู้ป่วยอายุมากกว่า 40 ปี โดยพบผู้ป่วยมะเร็งกระดูกชนิดนี้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปีไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมะเร็งกระดูกคอนโดรซาร์โคม่านี้อาจพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและรุนแรงหรือค่อย ๆ เติบโตอย่างช้า ๆ ก็ได้
  • มะเร็งกระดูกอีวิงซาร์โคม่า (Ewing Sarcoma) อาจเกิดขึ้นในกระดูกหรือเนื้อเยื่ออ่อนนุ่ม และยังเชื่อว่าเกิดขึ้นจากเนื้อเยื่อประสาทปฐมภูมิ เป็นมะเร็งกระดูกชนิดรุนแรงที่พบได้บ่อยที่สุดในเด็กอายุ 4-15 ปี พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง มักเป็นบริเวณส่วนกลางของกระดูกแนวยาวอย่างแขนหรือขา
การวินิจฉัยโรคมะเร็งกระดูก
ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์จากสาเหตุปวดกระดูก เบื้องต้นแพทย์จะสอบถามอาการและตรวจบริเวณที่มีอาการ โดยดูว่าบวมหรือมีก้อนหรือไม่ รวมทั้งถามถึงความคล่องตัวของการเคลื่อนไหวบริเวณดังกล่าว  ลักษณะอาการเจ็บปวดที่รู้สึกอยู่ว่าเจ็บเป็นช่วง ๆ หรือมีอาการแย่ลงหรือไม่ จากนั้นแพทย์จึงจะพิจารณาวิธีที่จะใช้ในการวินิจฉัยเพิ่มเติม ดังนี้  
  • การตรวจเอกซเรย์ การใช้รังสีถ่ายภาพกระดูก มักเป็นวิธีแรกที่เลือกนำมาใช้เพื่อตรวจดูความเสียหายของกระดูกที่อาจเกิดจากเซลล์มะเร็ง หรือดูว่ามีกระดูกงอกใหม่ที่เป็นผลจากมะเร็งหรือไม่ อีกทั้งยังตรวจสอบได้หากเป็นอาการเจ็บที่เกิดจากสาเหตุอื่นอย่างกระดูกหัก
  • การตรวจชิ้นเนื้อกระดูก (Biopsy) นับเป็นวิธีที่แม่นยำที่สุดเพื่อนำมาวินิจฉัยโรค เพราะนำเอาตัวอย่างของกระดูกบริเวณดังกล่าวส่งตรวจผลทางห้องปฏิบัติการ การเจาะกระดูกนี้ยังช่วยบอกได้ด้วยว่าผู้ป่วยเป็นโรคกระดูกชนิดใด โดยการนำตัวอย่างกระดูกออกมาตรวจซึ่งทำได้ 2 วิธีคือ การใช้เข็มเจาะเข้าไปที่กระดูกและการผ่าตัด
กรณีที่แพทย์ตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีข้างต้นแล้วพบมะเร็งกระดูก ขั้นต่อไปแพทย์มักจะประเมินระยะลุกลามของมะเร็งด้วยการใช้วิธีการตรวจต่อไปนี้
  • การทำ MRI Scan วิธีการตรวจโดยใช้สนามแม่เหล็กไฟฟ้าทำให้เกิดภาพกระดูกและเนื้อเยื่ออ่อนต่าง ๆ ถือว่าเป็นวิธีที่สามารถช่วยประเมินขนาดและความรวดเร็วในการลุกลามของเซลล์มะเร็งภายในหรือรอบ ๆ กระดูก
  • การทำ CT Scan การใช้รังสีเอกซเรย์ควบคู่กับเครื่องคอมพิวเตอร์ถ่ายภาพร่างกาย มักใช้เพื่อตรวจหาการแพร่กระจายของมะเร็งที่อาจลุกลามไปยังปอด
  • การสแกนกระดูก วิธีนี้จะช่วยให้แพทย์ตรวจดูภายในของกระดูกได้ว่ามะเร็งแพร่กระจายไปยังกระดูกส่วนใดบ้าง การใช้วัสดุกัมมันตรังสีฉีดเข้าไปในหลอดเลือดช่วยให้มองเห็นความผิดปกติได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เนื่องจากกระดูกบริเวณที่มีปัญหาจะดูดซึมวัสดุชนิดนี้ได้เร็วกว่ากระดูกปกติ
  • การตรวจไขกระดูก สำหรับผู้ป่วยที่ตรวจพบมะเร็งกระดูกอีวิงซาร์โคม่า แพทย์อาจใช้การทดสอบชนิดนี้เพื่อดูว่ามะเร็งลุกลามไปยังไขกระดูกแล้วหรือยัง โดยจะใช้เข็มเจาะเข้าไปยังกระดูกเพื่อนำเอาตัวอย่างไขกระดูกออกมาส่งตรวจต่อไป

ระยะของโรคมะเร็งกระดูก
หลังจากการตรวจร่างกายและตรวจเพิ่มเติ่มข้างต้นแล้ว แพทย์จึงจะประมวลผลได้ว่ามีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งหรือไม่และกระจายไปที่ใด ซึ่งจะบ่งบอกถึงระยะของมะเร็งกระดูกในครั้งนี้ได้ด้วย โดยมะเร็งกระดูกแบ่งได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้
  • ระยะที่ 1 เซลล์มะเร็งยังไม่แพร่กระจายออกจากกระดูกและมีเซลล์มะเร็งชนิดแบ่งตัวต่ำ
  • ระยะที่ 2 มะเร็งยังคงไม่แพร่กระจายออกจากกระดูกแต่มีเซลล์มะเร็งชนิดแบ่งตัวสูง
  • ระยะที่ 3 มีเซลล์มะเร็งเกิดขึ้น 2 แห่งขึ้นไปบนกระดูกแนวเดียวกัน ซึ่งอาจมีเซลล์มะเร็งชนิดแบ่งตัวสูงหรือต่ำก็ได้
  • ระยะที่ 4 มะเร็งแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นในร่างกาย เช่น กระดูกบริเวณอื่น ๆ หรือตามอวัยวะภายใน
การรักษามะเร็งกระดูก
โอกาสของการรักษามะเร็งกระดูกให้หายขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของมะเร็งกระดูก ถ้าเป็นระยะที่มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกายแล้วนั้นค่อนข้างยากต่อการรักษา จึงอาจเป็นการรักษาเพื่อประคองอาการและชะลอการลุกลามของมะเร็งเท่านั้น
ทั้งนี้แพทย์จะแนะนำวิธีการรักษามะเร็งดูกโดยคำนึงถึงชนิดของโรคมะเร็งกระดูก ระยะการลุกลามของมะเร็ง ความพร้อมทางด้านสุขภาพโดยรวม และความพอใจของตัวผู้ป่วยเอง อาจเลือกใช้การผ่าตัด การทำเคมีบำบัด หรือการใช้รังสีบำบัดวิธีใดวิธีหนึ่ง หรืออาจใช้ควบคู่กันไปหลายวิธีก็ได้
การผ่าตัด เป็นการผ่าเพื่อนำมะเร็งกระดูกออกมาทั้งหมด การผ่าตัดมีทั้งหมด 3 ประเภท ได้แก่
  • การผ่าตัดเพื่อนำกระดูกที่มีเซลล์มะเร็งออกแต่ยังคงแขนและขาไว้ (Limb-Sparing Surgery) ใช้ในกรณีที่สามารถแยกมะเร็งกระดูกออกจากเส้นประสาทและเนื้อเยื่ออื่น ๆ ได้ โดยแพทย์นำกระดูกจากส่วนอื่นของร่างกายหรือกระดูกเทียมมาใส่แทนที่กระดูกที่เสียไป
  • การผ่าตัดแขนและขา (Amputation) ผู้ป่วยที่มีมะเร็งขนาดใหญ่หรือเป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณที่ซับซ้อน อาจต้องใช้การผ่าตัดเพื่อนำแขนหรือขาส่วนนั้นออกไปด้วย แต่ปัจจุบันวิธีนี้ไม่ค่อยนิยมใช้แล้วเนื่องจากมีการพัฒนาวิธีการรักษาอื่น ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องตัดแขนหรือขาออกไป
  • สำหรับมะเร็งที่เกิดขึ้นในบริเวณอื่นที่ไม่ใช่แขนหรือขา แพทย์อาจนำกระดูกและเนื้อเยื่อรอบ ๆ ออก หรือนำบริเวณที่มีเซลล์มะเร็งออกแต่เหลือกระดูกไว้ให้มากที่สุด แล้วใช้กระดูกจากส่วนอื่นหรือกระดูกเทียมแทนที่เช่นกัน
การทำเคมีบำบัด การรักษาด้วยการให้ยาฆ่าเซลล์มะเร็งแก่ผู้ป่วย โดยจะให้ผ่านทางเส้นเลือดและยานี้จะแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย การทำเคมีบำบัดนี้ยังใช้รักษาผู้ป่วยที่มะเร็งลุกลามจากกระดูกไปสู่ส่วนอื่น ๆ ของร่างกายแล้วได้ด้วย


อย่างไรก็ตาม การทำเคมีบำบัดอาจส่งผลให้เซลล์ปกติถูกทำลายไปด้วย และเกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ตามมา เช่น ผมร่วง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย อ่อนเพลีย เสี่ยงต่อการติดเชื้อ รวมถึงการเกิดภาวะมีบุตรยาก และมีโอกาสที่ผู้ป่วยจะเป็นหมันอย่างถาวร ซึ่งทีมแพทย์จะมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงของภาวะนี้
การใช้รังสีบำบัด ด้วยการใช้คลื่นแสงพลังงานสูงอย่างเช่นรังสีเอกซเรย์ช่วยกำจัดเซลล์มะเร็ง ขณะที่ผู้ป่วยนอนลงบนโต๊ะ เครื่องจะหมุนไปโดยรอบและส่งรังสีไปยังเซลล์มะเร็ง วิธีนี้มักใช้ร่วมกันกับการทำเคมีบำบัด โดยแพทย์จะฉายรังสีก่อนแล้วจึงตามด้วยการทำเคมีบำบัด
นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้การฉายรังสีลดขนาดก้อนมะเร็งก่อนผ่าตัด ช่วยให้การผ่าตัดทำได้ง่ายขึ้น เพิ่มโอกาสการรักษาโดยไม่จำเป็นต้องตัดแขนและขาของผู้ป่วย รวมถึงการใช้รังสีฆ่าเซลล์มะเร็งที่หลงเหลือหลังจากผ่าตัด ส่วนในรายที่อาการรุนแรงแพทย์จะช่วยหาวิธีประคองอาการและบรรเทาความเจ็บปวดจากมะเร็งที่เกิดขึ้น
เช่นเดียวกับการทำเคมีบำบัด การฉายรังสีอาจทำให้เซลล์ปกติโดยรอบถูกทำลายไปด้วย และก่อให้มีอาการข้างเคียง เช่น เจ็บข้อต่อบริเวณที่มีการรักษามะเร็ง ผิวหนังได้รับความระคายเคืองหรือเป็นผื่นแดง รู้สึกป่วย เหนื่อย ผมหรือขนบริเวณที่ฉายรังสีร่วง

ผลข้างเคียงในการรักษาโรคมะเร็งกระดูก
ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งกระดูก ขึ้นกับวิธีรักษา ซึ่งผลข้างเคียงจะสูงขึ้นเมื่อใช้วิธีรักษาหลายวิธีร่วมกัน ในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูงและโรคที่ก่อการอักเสบของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เช่น โรคภูมิต้านตนเอง/โรคออโตอิมูน

  • การผ่าตัด เช่น การสูญเสียเนื้อเยื่อ/อวัยวะ การเสียเลือด แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเสี่ยงต่อการดมยาสลบ
  • รังสีรักษา คือ ผลข้างเคียงต่อผิวหนัง (การดูแลผิวหนัง และผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา) และเพิ่มโอกาสทำให้กระดูกในส่วนที่ได้รับรังสีหัก
  • ยาเคมีบำบัด คือ คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด ภาวะเลือดออกง่ายจากมีเกล็ดเลือดต่ำ และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา:การดูแลตนเอง)
  • ยารักษาตรงเป้า ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากยารักษาตรงเป้าคือ การเกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย แผลติดยากเมื่อเกิดบาดแผล และอาจเป็นสาเหตุให้ผนังลำไส้ทะลุได้   Haamor
การรักษาอาการปวดกระดูก
อาการเจ็บปวดที่เป็นอาการหลักของโรคมะเร็งกระดูกรักษาด้วยยาบรรเทาปวดทั้งหลาย มีทั้งที่สั่งจ่ายโดยแพทย์และสามารถหาซื้อได้เอง โดยยาที่ใช้ระงับอาการเจ็บเล็กน้อยถึงปานกลาง ได้แก่ ยาพาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน นาพร็อกเซน และยาลดการอักเสบกลุ่ม NSAIDs ทั้งนี้ผู้ที่กำลังทำเคมีบำบัดอาจจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่ม NSAIDs เพราะจะทำให้เสี่ยงต่อการมีเลือดออกได้
ด้านยารักษาอาการเจ็บปวดระดับปานกลางไปจนถึงเจ็บปวดรุนแรง แพทย์จะสั่งจ่ายยากลุ่มโอปิออยด์ ยาแก้ปวดชนิดเสพติดที่มีฤทธิ์รุนแรงกว่า เช่น มอร์ฟีน (Morphine) โคเดอีน (Codeine) และเฟนทานิล (Fentanyl) โดยบางครั้งอาจใช้หลายตัวยาควบคู่กัน อย่างไรก็ตามยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์นี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงอย่างอาการง่วงซึม และไปกดระบบประสาทที่ควบคุมการหายใจ ทำให้คลื่นไส้ และท้องผูกได้

ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งกระดูก
โรคมะเร็งกระดูกสามารถนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ดังนี้
  • อาการปวด มักเกิดขึ้นบริเวณที่มะเร็งก่อตัวขึ้น ทำให้มีอาการเจ็บเป็นพัก ๆ ในช่วงแรก และค่อย ๆ รุนแรงขึ้นในเวลาต่อมาหรือเมื่อทำกิจกรรมใด ๆ
  • กระดูกแตกหัก พบได้บ่อยรองลงมาจากอาการปวด เนื่องจากกระดูกที่มีเซลล์มะเร็งมักอ่อนแอลงเรื่อย ๆ และง่ายต่อการแตกหักเมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือมีแรงกระทบ ผู้ป่วยที่มีอาการแทรกซ้อนจากมะเร็งกระดูกชนิดนี้มักเผชิญอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรงบริเวณที่เกิดเซลล์มะเร็ง ก่อนจะตามมาด้วยการแตกหรือหักของกระดูก
  • ระดับแคลเซียมในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ภาวะแทรกซ้อนที่อาจส่งผลให้กระดูกอ่อนแอลง ท้องผูกหรือเกิดนิ่วในไตตามมา รวมทั้งกระทบต่อการทำงานของหัวใจและสมองจนเกิดอาการสับสน มึนงง และอ่อนเพลีย
  • กระดูกอักเสบ ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโรคมะเร็งกระดูกอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อและอักเสบของกระดูก ส่งผลให้มีอาการหนาวสั่น เป็นไข้ มีอาการเจ็บ หรือเป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตตามมาหากไม่ได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ
  • การแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ในร่างกายผ่านกระแสเลือดหรือระบบน้ำเหลืองที่เป็นกลไกป้องกันของร่างกาย โดยอวัยวะที่พบการแพร่กระจายของมะเร็งมากที่สุดก็คือปอด

โรคมะเร็งที่แพร่กระจายจนทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งกระดูกด้วย
        มะเร็งทุกชนิด ทุกส่วน สามารถแพร่กระจายจนทำให้เป็นโรคมะเร็งกระดูกได้ แต่มักจะมา กระจายเอาตอนช่วงท้ายๆ ของโรค กล่าวคือ ใครก็ตามที่เป็นโรคมะเร็งและอยู่ในขั้นสุดท้าย (หรือใกล้เคียง) อาจมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งกระดูกได้ทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม มีโรคมะเร็งอยู่ 5 ชนิด ที่อาจพบว่ามีเชื้อมะเร็งแพร่กระจายไปที่กระดูกตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ได้แก่
  1. มะเร็งเต้านม
  2. มะเร็งต่อมไทรอยด์
  3. มะเร็งปอด
  4. มะเร็งไต
  5. มะเร็งต่อมลูกหมาก
การป้องกันมะเร็งกระดูก
เนื่องจากในปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดมะเร็งกระดูก จึงยังไม่มีวิธีป้องกันที่ยืนยันได้ว่าจะสามารถช่วยป้องกันโรคนี้ได้ผล  POBPAD

การสังเกตตนเองและคนรอบจากโรคมะเร็งกระดูก Bangkokbiznews
        รองศาสตราจารย์นายแพทย์ทิพชาติ บุณยรัตพันธุ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญแผนกศัลยกรรมกระดูกและข้อ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ ให้ความรู้ว่า โรคมะเร็งกระดูก แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ มะเร็งกระดูกปฐมภูมิ มะเร็งกลุ่มนี้เกิดขึ้นจากเซลล์ของกระดูกโดยตรง พบได้ไม่บ่อยนัก และมะเร็งกระดูกทุติยภูมิ มะเร็งกลุ่มนี้จะมีต้นกำเนิดมาจากโรคมะเร็งของอวัยวะอื่นๆ แล้วลุกลามมาที่กระดูก มะเร็งกลุ่มหลังนี้มีแนวโน้มพบมากขึ้นเรื่อยๆ มะเร็งต้นกำเนิดที่พบได้บ่อย ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมไทรอยด์ มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งไต
        ลักษณะของ "มะเร็งปฐมภูมิ" ซึ่งเป็นมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ของกระดูกเองนั้น จะพบได้ไม่บ่อย ได้แก่ มะเร็งชนิดออสติโอซาโคม่า (osteosarcoma) จะพบในกลุ่มผู้ป่วยเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี และมะเร็งกระดูกอ่อน (chondrosarcoma) ที่พบในกลุ่มผู้ใหญ่อายุ 45 ปีขึ้นไป ตำแหน่งจะพบที่บริเวณกระดูกขาโดยรอบเข่า กระดูกต้นแขน และกระดูกเชิงกราน เป็นส่วนใหญ่ สำหรับอาการของมะเร็งกระดูกปฐมภูมิ ผู้ป่วยจะมาด้วยปัญหาของก้อนที่โตขึ้นเรื่อยๆ อาจจะมีอาการปวดตอนกลางคืนร่วมด้วย
        "ถ้าเด็กมีอาการปวดกระดูกรอบๆ เข่า มักปวดตอนกลางคืน อาการปวดไม่หายไปในเวลา 2-3 สัปดาห์ ร่วมกับคลำก้อนได้ ควรปรึกษาแพทย์โรคกระดูกเฉพาะทางด้านเนื้องอก"ส่วนในกลุ่มที่เป็นมะเร็งกระดูกทุติยภูมิ ที่ลุกลามมาจากอวัยวะอื่น ตำแหน่งที่มักจะพบการลุกลามมาได้บ่อยคือ บริเวณกระดูกสันหลัง กระดูกซี่โครง กระดูกแขนขา เป็นต้น ผู้ป่วยจะมีอาการปวดกระดูกสันหลัง ปวดเอว ขาชา แขนขาอ่อนแรง ซึ่งจะเป็นอาการทั่วไปๆ ไม่เฉพาะเจาะจง ทำให้ผู้ป่วยคิดว่าเป็นจากภาวะกระดูกหลังเสื่อม อาการปวดจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ บางครั้งปวดจนนอนไม่หลับ ซึ่งเป็นเพราะมะเร็งได้ทำลายกระดูกสันหลังไปมากแล้ว หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องทันเวลา จะทำให้มีปัญหาแทรกซ้อนร้ายแรงตามมา เช่น กระดูกสันหลังยุบและอาจกดทับเส้นประสาท ทำให้เป็นอัมพาตของแขนขาได้ บางรายมาด้วยอาการกระดูกแขนขาหักจากการกระทบกระเทือนเพียงเล็กน้อย
        แนวทางการรักษาโรคมะเร็งกระดูกนั้น นายแพทย์ทิพชาติให้ความรู้ว่า การรักษามะเร็งกระดูกปฐมภูมิ จะใช้การผ่าตัดเอามะเร็งออกไปและใส่ข้อเทียมสำหรับโรคมะเร็งทดแทน ที่เรียกว่า "Endoprosthesis" โดยไม่ต้องตัดแขนขาอย่างในสมัยก่อน ผู้ป่วยหลังการผ่าตัดสามารถลุกเดิน ลงน้ำหนัก ขยับแขนขาได้ ภายในเวลารวดเร็ว ส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ทั้งนี้อาจต้องให้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วย
        ส่วนการรักษามะเร็งกระดูกทุติยภูมิที่กระจายมาที่กระดูกนั้นจะมุ่งรักษามะเร็งต้นกำเนิดก่อนเป็นหลัก ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการให้ยาเคมีบำบัด และการฉายแสง ร่วมกับผ่าตัดกระดูกในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ เช่น มะเร็งทำลายกระดูกสันหลังจนเริ่มมีการกดทับเส้นประสาท หรือมะเร็งทำลายกระดูกแขน ขา จนมีภาวะที่เรียกว่า "เสี่ยงต่อกระดูกหัก" รวมทั้งเมื่อเกิดมะเร็งลุกลามจนมีกระดูกหักไปแล้ว การผ่าตัดที่แขนขาจะใช้เทคนิค การดามเหล็กแบบยาวสอดเข้าไปในโพรงกระดูก รวมทั้งมีการใช้ซีเมนต์ทางการแพทย์ใส่เสริม เพื่อทดแทนกระดูกที่ถูกทำลายไป ส่วนการผ่าตัดที่กระดูกสันหลัง จะใช้โลหะยึดตรึงกระดูกสันหลังและอาจจะใส่ซีเมนต์ร่วมด้วย นอกจากนี้ยังมีการให้ยากลุ่มใหม่สำหรับผู้ป่วยมะเร็งกระดูกทุติยภูมิที่ลุกลามมากระดูก ที่เรียกว่า "Targeted Therapy" นับเป็นยาที่สามารถช่วยรักษาประคองให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวขึ้น แม้เป็นคนไข้ระยะสุดท้ายแล้วก็ตาม
        "ปัจจุบันเป็นมะเร็งกระดูกไม่ต้องกลัว ทีมแพทย์สามารถรักษาให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีอายุอยู่ได้ยืนยาว บางรายหายขาดได้ กรณีที่เป็นมะเร็งระยะแรกๆ"
        แม้โรคมะเร็งกระดูกจะไม่สามารถป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ท่านสามารถพึงระวังตัวด้วย      การสังเกตตัวเองง่ายๆหากมีอาการปวดหลัง ปวดแขนขา โดยเฉพาะปวดในเวลากลางคืน ติดต่อกันเกิน 2-3 สัปดาห์แล้วไม่หาย หรือ มีก้อนโตขึ้น อย่าปล่อยทิ้งไว้ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยต่อไป